บริการด้านอาหาร: เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อิ่มอร่อยได้อย่างสบายใจโรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตของผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคเบาหวานสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้อย่างเหมาะสม โรคเบาหวานเป็นภาวะที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนั้นทำให้ร่างกายไม่สามารถดึงน้ำตาลที่ได้รับจากอาหารไปใช้เป็นพลังงานได้
เอลเดอร์จึงนำสาระดี ๆ มาฝากผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวานอีกเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นหลักการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทำง่ายได้ด้วยตัวเอง และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมอาหาร ?
อาหารที่ทานเข้าไปในแต่ละมื้อมีความสำคัญกับผู้ป่วยเบาหวานอย่างมาก สำหรับผู้สูงวัยที่มีโรคเบาหวานต้องเลือกทานอาหารที่ดีและเหมาะสมมากเป็นพิเศษ ต้องประกอบไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคแทรกซ้อน
หลักการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัย การทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะหากมีการทานอาหารที่ดีและเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับความดันโลหิต และเสริมสร้างสุขภาพร่างกายแก่ผู้สูงวัย หากทานอาหารที่ไม่ถูกต้องหรืออาหารที่ควรเลี่ยง อาจส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพและต่อโรคเบาหวานได้
1. สารอาหารที่จำเป็นต่อผู้ป่วยเบาหวาน
คาร์โบไฮเดรต แบบเชิงเดี่ยวจากน้ำตาล และแบบเชิงซ้อนจากแป้ง ถูกย่อยและดูดซึมไปอยู่ในกระแสเลือดในรูปของกลูโคส ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ แต่คาร์โบไฮเดรตจากอาหารบางชนิดก็มีประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวาน เช่น อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ
ไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหาร ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช รำข้าว หรือแป้งสาลี โดยอาหารที่มีไฟเบอร์สูงจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปรับสมดุลของการย่อยอาหารในร่างกาย
ไขมันดี อยู่ในรูปของไขมันไม่อิ่มตัว มีทั้งแบบเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน พบมากในอะโวคาโด อัลมอนด์ หรือมะกอก สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะมีแคลอรี่สูง
2. อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลี่ยง
อาหารบางอย่างนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวานแล้ว ยังอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งอาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง ดังนี้
- ไขมันอิ่มตัว มักพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ติดหนัง เนื้อวัว ไส้กรอก เบคอน ไขมันจากสัตว์ เนย ชีส เป็นต้น รวมถึงในขนมอบ ของทอด น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวด้วย ซึ่งควรบริโภคอาหารให้ได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน
- ไขมันทรานส์สังเคราะห์ พบมากในขนมอบที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบและอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำด้วยความร้อนสูง เพื่อเก็บรักษา ยืดอายุ และทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น เช่น โดนัท คุกกี้เนย มันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟราย ขนมขาไก่ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ขนมดอกจอก ปลาซิวแก้ว เป็นต้น
- ไขมันคอเลสเตอรอล มักพบในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโปรตีนสูงอย่างเครื่องในสัตว์หรือไข่แดง ซึ่งในแต่ละวันไม่ควรได้รับคอเลสเตอรอลเกิน 200 มิลลิกรัม
- โซเดียม แม้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่หากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณมากเกินไปหรือเกินกว่า 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดข้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ไตเสื่อม และอาจเกิดภาวะไตวายในที่สุด
3. หลักการทานอาหารแต่ละกลุ่ม
ไปดูกันว่าหลักการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงวัยควรเน้นทานอาหารในกลุ่มไหนบ้าง และควรทานในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
1.) หมวดคาร์โบไฮเดรต (ข้าวแป้ง)
เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้ง 1 ส่วน ประกอบด้วย คารโบไฮเดรต 18 กรัม (1 คาร์บ) โปรตีน 3 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินอาหารในหมวดคาร์บได้ปกติ แต่ควรมีการทานในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักสูงควรทานมื้อละ 2 ทัพพี สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักปกติสามารถทานได้ 2-3 ทัพพีต่อมื้อ
2.) หมวดผลไม้
ผลไม้ 1 ส่วนมีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม (1 คารบ์) ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ เส้นใยอาหารประมาณ 2 กรัมขึ้นไป โดยปกติผลไม้ 1 ส่วนเท่ากับน้ำผลไม้ 1 ส่วน 2 ถ้วยตวง หรือเท่ากับผลไม้อบแห้งธรรมดา 1 ส่วน 4 ถ้วยตวง ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบแม้จะมีเส้นใยอาหารแต่หากกินมากกว่าปริมาณที่กำหนดจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูงจึงควรกินผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น 1 ชนิดต่อมื้ออาหาร
3.) หมวดผัก
อาหารกลุ่มนี้มีวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหารมาก จึงเป็นกลุ่มที่ผู้ป่วยเบาหวานควรกินให้ว่าขึ้นในแต่ละมื้อ เช่น วันละ 60 ทัพพีหรือ 2-3 ถ้วยตวง โดยเฉพาะผักใบสีเขียวสดหรือสุก เพื่อที่ร่างกายจะได้ใยอาหาร และช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล และไขมันในอาหารได้เป็นอย่างดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดลดลง
4.) หมวดเนื้อสัตว์
อาหารในกลุ่มโปรตีนเป็นอาหารหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องได้รับในทุกมื้ออาหาร แต่ควรทานในปริมาณที่เหมาะสมเช่น 2-4 ช้อนโต๊ะ โดยเนื้อสัตว์ 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 15 กรัม ควรเน้นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและหนัง การทานปลาช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากขึ้น
แนะนำเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
หลังจากที่ผู้สูงวัยได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมาแล้วเบื้องต้น เอลเดอร์จึงมีเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมาแนะนำอีกเช่นเคย โดยเลือกเมนูที่เน้นทำง่าย แต่ได้ประโยชน์ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามปริมาณที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละมื้อ
1. แกงจืดผักกาดขาวเต้าหู้หมูสับ
ส่วนผสม
ผักกาดขาว 240 กรัม (1 หัว)
คื่นฉ่ายหั่น 40 กรัม (4 ต้น)
หมูเนื้อแดงสับ 80 กรัม (1 ขีด)
เต้าหู้อ่อน 160 กรัม (1 หลอด)
ซีอิ๊วขาว 10 กรัม (2 ช้อนชา)
กระเทียม 10 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)
พริกไทยป่น 4 กรัม (1 ช้อนชา)
วิธีทำ
1. นําผักกาดขาวมาล้าง หั่นเป็นท่อน ประมาณ 1 นิ้ว และเต้าหู้อ่อนหั่นเป็นชิ้น
2. ตั้งน้ําให้เดือด ใส่ซีอิ๊วขาว กระเทียม หมูสับ เต้าหู้ และผักกาดขาว ต้มจนเดือดและสุกกำลังดี
3. โรยด้วยคื่นฉ่าย และพริกไทยป่น พร้อมตักเสิร์ฟ
เคล็ดไม่ลับสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
เปลี่ยนน้ำปลาจาก 2 ช้อนกินข้าว เป็นซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
2. ข้าวกล้องราดกะเพราไก่สมุนไพร
ส่วนผสม
ข้าวกล้อง 150 กรัม (1/2 ทัพพี)
เนื้อไก่สับหยาบ 60 กรัม (1/2 ขีด)
กระเทียมโขลก 10 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)
พริกขี้หนูโขลก 3 กรัม (6 เม็ด)
ใบกะเพรา 10 กรัม (1/4 ถ้วยตวง)
น้ํามันถั่วเหลือง 5 กรัม (1 ช้อนชา)
หอมหัวใหญ่ 10 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)
มะเขือเทศ 20 กรัม (1 ลูก)
น้ําปลา 5 กรัม (1 ช้อนชา)
แตงกวา (กินแกล้ม) 2 ลูก
วิธีทำ
1. ใส่น้ํามันลงในกระทะตั้งไฟกลาง ใส่กระเทียม พริกขี้หนู ผัดให้หอม
2. ใส่ไก่ผัดพอสุก ใส่หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่ใบกะเพรา ผัดพอให้สุก
4. ตักราดบนข้าว พร้อมเสิร์ฟ ทานคู่กับแตงกวา
เคล็ดไม่ลับสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง
2. เพิ่มหอมใหญ่ มะเขือเทศ และแตงกวา เพื่อเพิ่มใยอาหาร
3. ยําปลาทู
ส่วนผสม
ปลาทูนึ่ง 80 กรัม (2 ตัว)
ขิงซอย 100 กรัม (1 ถ้วยตวง)
พริกขี้หนูซอย 20 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
หอมแดงซอย 100 กรัม (1 ถ้วยตวง)
น้ํามะนาว 60 กรัม (4 ช้อนโต๊ะ)
น้ําปลา 10 กรัม (2 ช้อนชา)
ผักกาดขาว 80 กรัม (2 ใบ)
ต้นหอมซอย 40 กรัม (1/2 ถ้วยตวง)
ผักชีซอย 40 กรัม 1/2 ถ้วยตวง
ตะไคร้ซอย 100 กรัม (1 ถ้วยตวง)
วิธีทำ
1. ปลาทูนึ่งแล้วแกะก้างออก เอาแต่เนื้อ จากนั้นใช้ส้อมยีปลาทูเป็นชิ้นเล็ก ๆ
2. ผสมเครื่องปรุงทั้งหมดคลุกเคล้ากับปลาทู ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา คลุกให้เข้ากัน
3. จัดจานด้วยผักกาดขาว พร้อมตักเสิร์ฟ
เคล็ดไม่ลับสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ลดปริมาณน้ําปลาจาก 1/2 ช้อนกินข้าว เหลือ 2 ช้อนชา
2. เปลี่ยนจากปลาทูทอด เป็นปลาทูนึ่ง เพื่อลดปริมาณน้ํามัน
3. เพิ่มผักสมุนไพรให้มากขึ้น เช่น เช่น ตะไคร้ ขิง หอมแดง ผักชี และผักกาดขาว
4. ผัดบวบใส่ไก่
ส่วนผสม
บวบเหลี่ยมหั่น 240 กรัม (3 ถ้วยตวง)
เนื้อไก่ 120 กรัม (1 ขีด)
กระเทียม 20 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
น้ํามันถั่วเหลือง 20 กรัม (4 ช้อนชา)
ซีอิ๊วขาว 10 กรัม (2 ช้อนชา)
พริกชี้ฟ้าเหลืองแดง 10 กรัม (ครึ่งเม็ด)
น้ําซุปผัก 50 กรัม (¼ ถ้วยตวง)
วิธีทำ
1. นําบวบมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้น ๆ ต่อด้วยหั่นเนื้อไก่เป็นชิ้นพักไว้
2. เจียวกระเทียมสับในน้ํามันให้เหลือง ใส่เนื้อไก่ผัดให้สุก
3. ใส่บวบลงผัดจนสุกและนิ่ม ใส่พริกชี้ฟ้าเหลืองแดงหั่นแฉลบ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ผัดจนสุกเข้ากันพร้อมตักเสิร์ฟ
เคล็ดไม่ลับสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ไม่ใส่น้ําตาลทราย
2. ลดปริมาณซีอิ๊วขาวจาก 2 ช้อนโต๊ะ เหลือ 2 ช้อนชา
ข้อแนะนำในการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังได้ตามปกติ ไม่ต้องลดลงมาก เว้นแต่เฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง
2. ทานผลไม้ที่หวานน้อย และมีใยอาหารมาก ตามปริมาณที่กำหนด วันละ 2-3 ครั้งแทนขนม
3. ทานผักให้มากขึ้นทุกมื้อ
4. ทานผักผลไม้ทั้งกาก แทนการคั้นดื่มแต่น้ำ
5. ทานไข่ได้ แต่หากผู้ป่วยมีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ให้งดไข่แดง
6. ทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไม่ติดหนัง
7. ทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
8. เลือกทานอาหารที่มีไขมันน้อย และใช้น้ำมันน้อย เช่น อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง และผัด แทนอาหารประเภททอด
9. ใช้น้ำมันพืชจำพวกน้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าวในการทอด หรือผัดอาหารแต่พอควร
10. หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ ไขมันสัตว์ และอาหารทอดเป็นประจำ รวมทั้งขนมอบ เช่น พัฟ พาย เค้ก
11. เลือกดื่มนมขาดมันเนย (ไขมัน 0%) นมจืดพร่องมันเนย แทนนมปรุงแต่งรส
12. หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลต และขนมหวานจัดต่างๆ
13. ใช้น้ำตาลเทียมใส่เครื่องดื่มและอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย
14. ทานอาหารรสอ่อนเค็ม รสไม่จัด
15. อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนรับประทาน โดยเลือกอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 20 กรัม
อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างมากเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นอยู่กับอาหารที่ทานเข้าไปในแต่ละมื้อผู้ป่วยเบาหวานจึงควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ต่ำหรือสูงจนเกินไปเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและอาจเกิดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ