รู้ทันโรคตับอักเสบ อาการที่เกิดขึ้น และการรับมือภาวะแทรกซ้อนตับ เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานภายในร่างกายให้มีความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การกำจัดสารพิษ สร้างโปรตีนที่ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัว รวมทั้งยังสามารถผลิตน้ำดีที่ช่วยย่อยดูดซึมไขมัน และวิตามินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นหากไม่ดูแลสุขภาพตับให้ดี อาจเกิดภาวะตับอักเสบขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายให้มีความบกพร่องได้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลตับได้มากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลสินแพทย์ จะพาไปเจาะลึกถึงโรคตับอักเสบ อาการที่เกิดขึ้น แนะนำแนวทางในการป้องกัน รักษา พร้อมรับมือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน
ตับอักเสบคืออะไร?
ตับอักเสบ คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหายจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ การดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรคบางชนิด รวมถึงเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันมีความบกพร่องทำให้ตับถูกทำลาย
ตับอักเสบแบ่งออกเป็นกี่ชนิด?
ตับอักเสบสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย
ตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน
ตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของตับที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อไวรัส การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมถึงการใช้ยาที่ส่งผลให้ตับเป็นพิษได้ โดยทั่วไปแล้วการอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งผู้ป่วยหลายคนมักไม่มีอาการข้างเคียง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ตับอักเสบชนิดเรื้อรัง
ตับอักเสบชนิดเรื้อรัง เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของตับที่ต้องใช้ระยะเวลารักษานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และชนิดซี โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีอาการบ่งบอกอย่างชัดเจนในช่วงระยะแรก เซลล์ตับจะถูกทำลายอย่างต่อเนื่องโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งเมื่อโรคพัฒนาไปถึงระยะสุดท้าย ความรุนแรงของโรคจะทำให้เกิดภาวะตับแข็ง หรือในบางกรณีอาจพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งตับได้ในที่สุด
อาการของโรคตับอักเสบ
อาการของโรคตับอักเสบที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในระยะต่าง ๆ ของโรค สามารถสังเกตได้ตามลักษณะดังนี้
ปวดท้องบริเวณตับ
ปวดท้องบริเวณตับ หรือจุกแน่นที่ตำแหน่งชายโครงด้านขวา เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้อวัยวะเกิดการอักเสบ บวม และมีการขยายตัวขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ตับจึงถูกเบียด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว
คลื่นไส้ และอาเจียน
คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่อวัยวะตับมีความผิดปกติไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองสารพิษหรือขับสารพิษออกจากเลือดได้ ผู้ป่วยจึงเกิดความรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง และอาเจียนออกมาในที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หรือภาวะดีซ่าน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที
เบื่ออาหาร
เบื่ออาหาร เป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากการที่ตับไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบย่อยอาหาร ที่กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่อยากทานอาหารได้
เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย
เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่อวัยวะตับไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือดได้ จึงส่งผลต่อความสามารถในการเผาพลาญพลังงาน ให้ลดน้อยลงตามไปด้วย
ภาวะดีซ่าน
ภาวะดีซ่านหรืออาการตัวเหลือง และดวงตาเหลือง เกิดจากการที่มีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดสูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะโดยเฉพาะในผิวหนัง และตา เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง
ปัสสาวะมีสีเข้ม
ปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตับที่ลดลง ทำให้สารบิลิรูบิน (Bilirubin) มีการสะสมอยู่ในเลือด ร่างกายจึงต้องขับสารนี้ผ่านทางปัสสาวะที่มีสีเหลืองเข้มจนถึงสีส้มเข้มได้
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ โดยส่วนใหญ่แล้วมักตรวจพบโดยบังเอิญในระหว่างการตรวจสุขภาพ หรือผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ด้วยอาการแทรกซ้อนที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น เบื่ออาหาร เหนื่อยล้าได้ง่าย รวมถึงอาการปวดท้อง เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะทำการสอบถามประวัติเบื้องต้น เพื่อทำการประเมินความเสี่ยงของโรค ร่วมกับวิธีการตรวจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
การตรวจร่างกาย เพื่อสังเกตสัญญาณของโรค เช่น ภาวะดีซ่าน ผิวหนัง และดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
การตรวจเลือด เพื่อวัดการทำงานของตับ และความผิดปกติ เช่น ค่าเอนไซม์ AST (SGOT), ALT (SGPT) เป็นต้น
การตรวจโดยการอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาดูสภาพของตับ และความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น
การตรวจชิ้นเนื้อของตับ เพื่อต้องการยืนยันถึงระดับความรุนแรงของโรค
การรักษาโรคตับอักเสบ
การรักษาโรคตับอักเสบ สามารถแบ่งรูปแบบการรักษาได้ตามชนิดของโรค ซึ่งประกอบด้วย
การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน
การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน เนื่องด้วยอาการของโรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถหายได้เอง หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แพทย์จึงมุ่งเน้นการรักษาด้วยการประคับประคองอาการ พร้อมฟื้นฟูการทำงานของตับให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง
การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการติดเชื้อไวรัส เพื่อลดการอักเสบ และการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการรักษาด้วยยาต้านไวรัส พร้อมติดตามผลการรักษาเป็นระยะ เพื่อลดความเสี่ยงที่ความรุนแรงของโรคจะพัฒนากลายเป็นภาวะตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับได้
การป้องกันโรคตับอักเสบ
การป้องกันโรคตับอักเสบอย่างถูกต้อง และเหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น
หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้อื่น เช่น เลือด น้ำเหลือง
ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันตับทำงานหนักมากจนเกินไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบ เกิดขึ้นจากผลกระทบของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับ และมีโอกาสเกิดภาวะอื่น ๆ ขึ้นได้ เช่น การขาดสารอาหาร ภาวะเลือดออกมากผิดปกติ อาการทางสมองที่มีสาเหตุจากโรคตับ ภาวะไตวาย ภาวะตับแข็ง รวมถึงโรคมะเร็งตับ และการเสียชีวิตลงในที่สุด